EM5813 Model 1
Ear Speakers
จากประสบการณ์ที่เคยใช้หูฟังแบบแยงหูมาจำนวนหนึ่ง ผมพบว่าส่วนใหญ่มันให้เสียงที่ออกไปทางบาง ไม่อิ่มเข้มเท่ากับเสียงของหูฟังแบบแปะหู (หรือ On-Ear) และแบบฟูลไซร้ โทนัลบาลานซ์ไม่ดี โดยเฉพาะเสียงทุ้มไม่ค่อยสะใจ ขาดทั้งเนื้อเบสและความลึกของโน๊ตดนตรีที่อยู่ในเร้นจ์ของความถี่ที่ต่ำมากๆ อย่างเช่น ดับเบิ้ลเบส, ออร์แกนท่อ และแอมเบี๊ยนต์
Cardas : EM5813
หูฟังแบบแยงหูที่จะมาลบล้างข้อด้อยในอดีต..
Cardas คือนามสกุลของ George Cardas นักออกแบบสายออดิโอ เคเบิ้ลระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ที่มีฝีมือในการออกแบบระดับแนวหน้า และ Cardas คือชื่อยี่ห้อของหนึ่งในสายออดิโอ เคเบิ้ลที่ได้รับการยอมรับจากวงการเครื่องเสียงมากที่สุดของวงการ
เมื่อ Cardas หันมาทำหูฟัง EM5813 Model 1 คือชื่อรุ่นของหูฟังตัวแรกที่ออกแบบโดย George Cardas นั่นมันก็คงจะไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน อย่างแรกที่แสดงความเป็นอัตลักษณ์ออกมาชัดเจนมากสำหรับหูฟังตัวนี้ นั่นคือ "ไดเวอร์" ในขณะที่ยี่ห้ออื่นในตลาดกำลังมุ่งหน้าไปทาง multi driver เริ่มจากสอง-สาม-สี่ แล้วก็แปด จนได้ยินว่าบางเจ้านั้นกำลังจะทะลุเลยไปถึง 12 ไดเวอร์กันแล้ว.! แทนที่ Cardas จะใช้ตัวขับเสียงแบบมัลติ-ไดเวอร์ตามสมัยนิยม เขากลับหันไปใช้ตัวขับเสียงแบบ "single driver" สวนทางคนอื่นไปเลย.!
แทนที่จะให้ความสำคัญในการออกแบบไปกับจำนวนตัวขับเสียง Cardas กลับหยิบเอาดีไซน์ของซิงเกิ้ล-ไดเวอร์มาเจียรนัยซะใหม่ อย่างแรกคือไดอะแฟรม ในขณะที่คนอื่นๆ ใช้ไมล่า (Mylar) ทำแผ่นไดอะแฟรมสำหรับไดนามิก-ไดเวอร์สำหรับหูฟังอินเอียร์ แต่จอร์จฟังแล้วไม่ประทับใจจอร์จ เขาลองไปลองมาเป็นปีกว่าจนมาประทับใจเสียงของสารประกอบประเภทโพลี่ที่ชื่อว่า Polyethylene Naphthalate (PEN) ที่ญี่ปุ่นนำมาทำเป็นแผ่นไดอะแฟรมที่บางมากๆ จากนั้นจอร์จก็เริ่มค้นหาชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อประกอบขึ้นมาเป็นหูฟังตามแนวทางของเขาเอง อาทิ แม่เหล็กจากประเทศจีน และตัวตู้ทรงโค้งที่คำนวนสัดส่วนออกมาตามสูตร Golden Ratio ที่จอร์จ คาร์ดาสยึดถือมาโดยตลอด ตู้นั้นทำมาจากโลหะพิเศษที่สั่งตรงมาจากอิตาลี จนได้ออกมาเป็นไดเวอร์ขนาด 11.5 มิลลิเมตรที่มีลักษณะสวยงาม
จุดเด่นของหูฟังตัวนี้อีกประการหนึ่งก็คือ "สายสัญญาณ" และแน่นอนว่ามันต้องเป็นสายสัญญาณของ Cardas อย่างแน่นอน รุ่นที่ถูกนำใช้คือรุ่น Clear Light ซึ่งเป็นสายสัญญาณที่ออกแบบมาให้ใช้กับหูฟังโดยเฉพาะ ตัวสายเมื่อประกอบสำเร็จกับตัวหูฟังจะมีลักษณะที่กึ่งแข็งกึ่งนิ่ม ด้านที่เชื่อมต่อเข้ากับไดเวอร์ทั้งสองข้างถูกรวบเข้าด้วยกันที่ระยะห่างจากตัวหูฟังออกมา 40 ซ.ม. โดยมีกระเปาะพลาสติกที่แข็งแรงแน่นหนาห่อหุ้มตรงจุดแยกเอาไว้ ระยะห่างระหว่างหูฟังทั้งสองข้างที่มากถึง 80 ซ.ม. (ดึงตึง) ช่วยให้คุณสวมใส่ในรูหูได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะห้อยสายทิ้งไว้ด้านหน้าหรือจะคล้องอ้อมไหล่ไปทิ้งไว้ทางด้านหลัง แต่เนื่องจากตัวสายมีน้ำหนักค่อนข้างมาก เมื่อสอดหูฟังเข้าไปในรูหูเสร็จแล้ว แนะนำให้ใช้ตัวหนีบล็อคสายแล้วหนีบไว้กับกระเป๋าเสื้อ อย่าปล่อยให้สายห้อยโตงเตงเพราะน้ำหนักของตัวสายจะรั้งทำให้หูฟังทั้งสองตัวไม่อยู่ในตำแหน่งที่แนบกับร่องหู เสียงจะแย่ลง
หัวแจ๊คให้มาเป็นขนาดมินิ 3.5 มิลลิเมตร และใช้ขั้วต่อที่เป็นตัวงอ 90 องศา สะดวกเมื่อต่อใช้งานกับสมาร์ทโฟนแล้วตัวสายไม่โด่งยืดออกไปนอกกระเป๋าเสื้อ หรือตอนต่อฟังจะหย่อนสมาร์ทโฟนลงกระเป๋ากางเกงก็ได้ เพราะตัวสายที่ให้มายาวประมาณ 155 ซ.ม. ยาวพอในการที่จะใช้กับสมาร์ทโฟนแล้วหย่อนลงกระเป๋ากางเกงได้โดยที่สายสัญญาณไม่ดึงตัวสมาร์ทโฟนลอยขึ้นมาจากกระเป๋า
จุกยาง eartip ให้มา 2 คู่ สีขาวกับสีฟ้า เป็นแบบร่มฉัตรสองชั้นทั้งคู่ แต่สีฟ้านั้นเขาเจาะรูเล็กๆ มาเพื่อปรับลดเสียงทุ้มลงไป ทำให้ได้โทนเสียงออกไปทางสดใสเพราะทุ้มจะน้อย ส่วนคู่สีขาวนั้นเป็นตัวมาตรฐาน เนื้อยางจะอ่อนนุ่มนิ่มกว่าจุกยางทั่วไป ตัวนี้ให้เสียงหนานุ่มไปตามลักษณะของเนื้อยาง เผอิญว่าตอนทดลองเปลี่ยนถอดไป-ใส่มาผมทำจุกยางสีขาวหายไปหนึ่งข้าง เลยไปที่ร้านมั่นคงฯ ที่ห้างอัมรินทร์พลาซ่าตั้งใจจะไปหาซื้ออะหลั่ยมาทดแทน คุณหลุยส์ที่ดูแลร้านบอกว่ายังไม่มีขาย เขายื่นจุกยางอะหลั่ยลักษณะเป็นร่มสองชั้นสีขาวขนาดเท่ากันมาให้ทดลองใช้ดู ผลปรากฏว่ามันให้เสียงที่ผมชอบมากกว่าจุกยางของ Cardas เองซะอีก คือมันให้เสียงเบสที่กระชับมากกว่า ลดความนุ่มและหนาที่มากเกินไปของจุกยางของเขาเองลงมานิดหน่อย ทำให้เสียงกลางกับทุ้มต้นๆ แยกห่างจากกันได้มากกว่า ลดความขุ่นมัวของซาวนด์สเตจลงไปได้พอสมควร และยังทำให้ท่วงจังหวะของเพลงเร็วๆ ฟังดูกระชับและสนุกมากขึ้นด้วย.. ใครสนใจลองสอบถามคุณหลุยส์ที่ร้านมั่นคง สาขาอัมรินทร์พลาซ่าดูก็แล้วกัน
นอกจากที่หนีบล๊อคสายแล้ว ในกล่องยังมีถุงหนังใบเล็กๆ มาให้สำหรับไว้ใส่หูฟังตอนเดินทางด้วย ถุงสวยดีแต่ผมลองเอามาใช้แล้วไม่ค่อยเวิร์คครับ ผมว่ามันเล็กเกินไป สายหูฟังตัวนี้ค่อนข้างใหญ่และมีลักษณะแข็งขืนนิดๆ ม้วนให้หดเล็กได้ยากเสี่ยงต่อความเสียหาย
ลักษณะการใช้งาน + เสียง
หลังจากแกะกล่องออกมาลองฟังในชั่วโมงแรกๆ ผมแทบร้องไห้.. เสียงมันอับทึบไม่มีชิ้นดี หลังจากกดเข้าไปลองอ่านรีวิวจากผู้ใช้และรีวิวเวอร์ท่านอื่นๆ พบว่า ทุกคนต่างก็คอมเม้นต์ว่าหูฟังตัวนี้ต้องการเวลาในการเบิร์นฯ นานมาก ซึ่งก็ตรงกับประสบการณ์ที่ผมพบเจอมากับตัวเอง พูดได้ว่า หลังแกะกล่องแล้ว คุณไม่ต้องเสียเวลาฟังเลย จับหูฟังทั้งสองข้างเสียบเข้าจุกยางอันเดียวกันให้หันหน้าเข้าหากันแล้วเปิดเพลง repeat ทิ้งไว้เลยอย่างต่ำๆ 20 ชั่วโมงต่อเนื่อง
หลังจากเบิร์นฯ จนครบ 50 ชั่วโมงไปแล้ว ผมก็เริ่มหิ้ว EM5813 ตัวนี้ออกร่อนไปในที่ต่างๆ เพื่อทดลองใช้งานในสภาวะจริง อย่างแรกที่รู้สึกได้คือรูปทรงของตัวบอดี้ส่วนหน้าที่มีลักษณะทรงปากแตรที่บีบลู่ออกไปทางด้านหน้า (สวนทางกับปากแตรของเครื่องดนตรีและลำโพงฮอห์นที่ผายออก) นั้นมันทำให้ตัวจุกยางมีพื้นที่ว่างมากพอในการปรับรูปทรงของตัวจุกยางเองให้แนบกระชับเข้ากับรูหูของผมได้อย่างกลมกลืน เมื่อขยับตัวหูฟังให้ฟิตเข้ากับรูหูแล้ว รู้สึกได้เลยว่ามันสามารถชีลด์ป้องกันเสียงจากภายนอกได้ดีมาก มีเสียงเล็ดลอดเข้ามาให้ได้ยินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ควรสวมใส่ขณะเดินถนนนะครับ อันตรายแน่นอน.. และเมื่อใช้ตัวหนีบล็อคสายสัญญาณเข้ากับกระเป๋าเสื้อแล้ว ตัวหูฟังทั้งสองข้างก็จะตรึงแน่นอยู่ในรูหูอย่างนั้นตลอด ลองสั่นศีรษะแแรงๆ ก็ไม่หลุดง่ายๆ
ความสามารถในการชีลด์ป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกมีความสำคัญมากต่อคุณภาพเสียงที่ได้จากหูฟังทุกตัว เพราะถ้ามีเสียงรบกวนจากภายนอกหลุดเข้ามามากนั่นหมายถึง S/N ratio ที่แย่ลงเมื่อเปิดเพลงฟัง และยังทำให้ต้องเร่งเสียงจากแอมป์เยอะขึ้นเพื่ออาศัยความดังของหูฟังกลบเสียงรบกวนจากภายนอก มีโอกาสที่จะทำให้เกิดผลเสียตามมาถึง 3 ประการ อย่างแรกคือ) ความเพี้ยนของแอมป์เพิ่มสูงขึ้นเพราะถูกเร่งให้ทำงานหนักขึ้น ประการที่สอง) ไดอะแฟรมของตัวหูฟังเองก็อาจจะเกิดโอเว่อร์โหลดขึ้นได้เพราะถูกกระตุ้นมากเกินไป และประการที่สาม) มีผลเสียต่อระบบการได้ยินของประสาทหูถ้าฟังติดต่อกันนานๆ ภายใต้ระดับความดังสูงๆ
ด้วยความสามารถในการป้องกันเสียงจากภายนอกที่เยี่ยมยอดของหูฟังตัวนี้นี่เอง ประกอบกับดีไซน์ให้มีความไวค่อนข้างสูง ทำให้ภาคขยายของ iPhone4 ของผมสามารถขับมันออกมาได้สบายๆ โดยใช้ระดับวอลลุ่มของ iPhone4 อยู่ระหว่างเที่ยงถึงบ่ายโมงเท่านั้น (ใช้โปรแกรมเพลย์เยอร์ GoldenEar ในการเล่นไฟล์เพลง FLAC 16/44.1) ทุกรายละเอียดเสียงของเพลงที่ฟังก็แผ่กระจายเต็มทั้งสองหูแล้ว
หูฟัง Cardas ตัวนี้ถ่ายทอดสิ่งที่ผมไม่เคยได้ยินจากหูฟังอินเอียร์ตัวไหนออกมาให้สัมผัส อย่างแรกที่ชัดเจนที่สุดก็คือรายละเอียดในย่านกลางลงไปถึงทุ้มทั้งหมดที่ถูกแจกแจงออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ผมไม่เคยได้ยินหูฟังอินเอียร์ตัวไหนให้เสียงกลางต่ำลงไปทุ้มที่มีรายละเอียดดีขนาดนี้มาก่อน ที่เคยผ่านหูไปไม่ใช่ไม่เคยเจอที่ไม่มีเสียงในย่านทุ้ม แต่เท่าที่เคยสัมผัสมา มันเป็นเสียงทุ้มที่อื้ออึงและ boomy ขึ้นมาแบบไม่มีรายละเอียด ไม่ใช่เสียงของโน๊ตดนตรีคีย์ต่ำ แต่ที่ถูกมันคือ noise ที่ระดับความถี่ต่ำมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าผมไม่สามารถทนฟังหูฟังอินเอียร์ที่ boost ความถี่ต่ำออกมาแบบนั้นได้แน่ๆ ผมเข้าใจว่า ตัวบอดี้ที่ทำด้วยโลหะพิเศษของหูฟัง Cardas ตัวนี้น่าจะมีส่วนอยู่มากกับลักษณะของเสียงกลางต่ำถึงทุ้มที่ทั้งอิ่มแน่น สะอาด และเต็มไปด้วยรายละเอียดเยี่ยงนี้
ที่ผ่านมานั้น หูฟังอินเอียร์ที่ผมยอมรับได้และใช้งานอยู่ก่อนหน้า Cardas ตัวนี้ก็คือ Westone รุ่น 4R ซึ่งจัดการกับโทนัลบาลานซ์และความถี่ในย่านกลางต่ำลงมาถึงทุ้มได้ดีกว่าหูฟังอินเอียร์ตัวอื่นๆ ที่ผมเคยฟังมาก่อนหน้านั้น หากแต่ 4R ใช้วิธีการแยกตัวขับเสียงออกเป็น 4 ตัวในการถ่ายทอดความถี่เสียงต่างๆ ออกจากกัน 3 ช่วงคือเบส-กลาง-แหลม ที่ผ่านจากวงจรเน็ทเวิร์คมาอีกที ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ดุลเสียงทุ้มของ 4R ออกมาดีกว่าหูฟังอินเอียร์ตัวอื่นๆ ก็เพราะเขาใช้ไดเวอร์ถึง 2 ตัวใน
การขับความถี่ในย่านทุ้มในขณะที่ย่านกลางและแหลมขับด้วยไดเวอร์แค่ย่านละตัว ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีการเดียวกันกับสิ่งที่ George Cardas ทำกับหูฟังตัวนี้
ปัญหาโลกแตกสำหรับหูฟังแบบ in-ear สำหรับผมก็คือ หูฟังตัวใดก็ตามที่พยายามทำให้ได้ความถี่ในย่านกลางต่ำลงมาถึงทุ้มมากขึ้น มันก็ต้องยอมแลกกับฮาร์มอนิกที่แผ่พลิ้วของเสียงกลาง-แหลมและความโปร่งใสของเวทีเสียงที่ด้อยลงเสมอ และที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือว่า ลักษณะของเสียงกลางต่ำลงไปถึงทุ้มต้นๆ ที่อื้ออึงและอบอวลนั้นจะติดตัวไปตลอดแม้ในขณะฟังเพลงที่ไม่มีเสียงโน๊ตดนตรีในย่านความถี่เหล่านั้นเลย ซึ่งเป็นคัลเลอร์ที่ผมรับไม่ได้
กับเวลากว่า 100 ชั่วโมงที่ลองฟัง EM5813 กับเครื่องเล่นเพลงและไฟล์เพลงจำนวนมาก กล้าพูดได้ว่าผมไม่เจอปัญหาข้างต้นเลยแม้แต่นิดเดียว.! เสียงกลางต่ำลงไปถึงทุ้มของ EM5813 เป็นทุ้มคุณภาพจริงๆ มันมีรายละเอียด inner detail ที่มากมายเพียงพอที่จะแสดงบุคลิกของโน๊ตดนตรีแต่ละโน๊ตออกมาได้ ไม่ได้เป็นแค่ความถี่ต่ำแปลกปลอมที่ถูกทำให้เกิดอื้ออึงขึ้นมาเพื่อแอบ boost เข้าไปกับเพลงที่ฟัง เสียงทุ้มที่หูฟัง EM5813 ให้ออกมานั้นเป็นพลังงาน acoustic power ที่เกิดขึ้นเฉพาะกับความถี่เสียงที่เกิดจากโน๊ตต่ำๆ ของเครื่องดนตรีเท่านั้น ในงานเพลง Heavenly Bodies ของ Lee Ritenour จากแทรคที่ 6 ในอัลบั้มชุด On The Line (GRP GRD-9525/FLAC 16-44.1) หูฟัง Cardas ตัวนี้สามารถแจกแจงรายละเอียดของเสียงทุ้มต่ำๆ ในช่วงอินโทรของเพลงนี้ออกมาได้ครบ ทั้งขนาดของตัวเสียงทุ้มที่ต่างกันในแต่ละโน๊ตไปจนถึงตำแหน่งที่เคลื่อนย้ายไป-มาของเสียงทุ้มเหล่านั้นด้วย
เสียงกลางของหูฟังตัวนี้หลุดพ้นจากเสียงทุ้มขึ้นมาได้เต็มทั้งย่านเสียง ผมได้ยินเสียงร้องของ Mark Knopfler ลอยเหนือเสียงกลองและเสียงเบสรวมถึงเสียงกีต้าร์ที่นัวเนียกันอยู่เบื้องล่างขึ้นมาได้อย่างชัดเจน (เพลง Calling Elvis จากอัลบั้มชุด On Every Street/FLAC 16-44.1) ซึ่งเป็นงานยากสำหรับหูฟังอินเอียร์ตัวอื่นที่ผมเจอมาในการที่จะดึงเสียงร้องของมาร์คให้หลุดพ้นความยุ่งเหยิงของเสียงกลองและเบสที่รุมสกรัมกันอย่างรุนแรงขึ้นมาลอยหน้าลอยตาได้อย่างเต็มเสียงแบบนี้ เมื่อลองพิสูจน์ความสามารถในการแยกแยะรายละเอียดของเสียงในย่านกลางของหูฟังตัวนี้เมื่อต้องรับมือกับเพลงที่มีรายละเอียดของเสียงกลางที่ค่อนข้างซับซ้อนอย่างเช่นเพลงของคณะ The Brothers Four ในอัลบั้มชุด The Brothers Four sing Lennon/McCartney (K2HD/FLAC 16-44.1) ก็พบว่าหูฟังตัวนี้สามารถแยกแยะเสียงร้องประสานของนักร้องทั้งสี่คนออกมาได้ชัดเจน ให้เนื้อเสียงที่นวลเนียนน่าฟัง และที่น่าประทับมากๆ ก็คือมันสามารถแผ่ขยายเสียงร้องออกมาได้เต็มตัว ไม่บีบเรียวจนแหลมเล็กไปตามลักษณะของตัวขับเสียง ซึ่งผมทดลองเทียบกับเสียงของ Westone: 4R พบว่า 4R แยกแยะเสียงแต่ละเสียงได้เด็ดขาดมากกว่าและฉีกดึงซาวนด์สเตจออกไปได้กว้างกว่า ในขณะที่ EM5813 จะให้ลักษณะเสียงกลาง-แหลมที่เกาะกลุ่มกันโดยมีเสียงทุ้มต่ำๆ แผ่เป็นฐานรองรับอยู่ในเลเยอร์ที่ลึกลงไปโดยตลอด จึงทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเวทีเสียงของ EM5813 ไม่กว้างเท่า แต่ที่ผมอยากจะขอชม EM5813 ก็คือความสามารถในการถ่ายทอดความต่อเนื่องของเสียงที่เยี่ยมยอดมาก มันให้คอนทราสน์ ไดนามิกของเสียงเครื่องสายและเสียงร้องที่บรรเลงต่อเนื่องไปแบบไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะในลีลาที่ผ่อนจากดัง-ลงไป-เบา และช่วงรุกจากเบา-ขึ้นมา-ดัง นั่นแสดงถึงความสามารถในการควบคุมการทำงานของแม่เหล็กและไดอะแฟรมที่มีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องการกำลังขับจากแอมป์มากมายเลย..
อยากจะย้ำว่า EM5813 ไม่ได้ต้องการกำลังขับจากแอมป์มากมายจริงๆ ผมกล้ารับประกันกับคุณได้ว่า แค่ภาคขยายในสมาร์ทโฟนระดับมาตรฐานทั่วไปก็สามารถทำให้ EM5813 ร้องเพลงให้คุณฟังได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งแล้ว ผมใช้ iPhone4 ก็แฮ๊ปปี้กับเสียงที่ได้จาก EM5813 มากแล้ว ทุกวันนี้ EM5813 กับ iPhone4 รับหน้าที่ขับกล่อมผมบนเตียงนอนในคืนที่นอนไม่หลับ (K420 ทำหน้าที่นี้ไม่ได้เพราะมีเสียงลอดอกมากวนคนข้างๆ) และผมจะให้มันทำหน้าที่ร้องเพลงให้ผมฟังบนเครื่องบินขณะเดินทางด้วย
สรุป
ไม่เสียชื่อจริงๆ ครับ สำหรับ Cardas กับหูฟังตัวแรกของแบรนด์นี้ ถ้ามีคนถามผมว่า ผมให้ผ่านรึเปล่า.? ผมขอยกให้สองมือเลย และอยากจะสำทับด้วยว่า ไม่ใช่แค่ผ่านเฉยๆ นะครับ แต่ผมคิดว่า EM5813 ของ Cardas ตัวนี้เข้ามาจัดตั้งมาตรฐานใหม่สำหรับคุณภาพเสียงของหูฟังแบบ in-ear กันเลยทีเดียว ต่อไปนี้ หูฟัง in-ear ตัวไหนที่จะโฆษณาว่าให้เสียงดี คงต้องข้ามเสียงของหูฟัง Cardas ตัวนี้ไปให้ได้ซะก่อน.! และถ้ายิ่งคิดว่าจะตั้งราคาขายสูงกว่าหมื่นกลางๆ ล่ะก้อ.. ผมขอพิสูจน์เทียบกับหูฟัง Cardas ก่อนถึงจะกล้าซื้อครับ..!!
...................................................
นำเข้าโดย: บริษัท ออดิโอคอม กรุ๊ปฯ
จัดจำหน่ายโดย:
บริษัท Deco 2000
ชั้น 4 ศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า
โทร. 0-2656-0712
...................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น